เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Nilaparvata lugens (Stål) เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น (bracrypterous form) ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ โดยวางไข่เป็นกลุ่ม เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง เพศผู้มีขนาด 3.5-4 มิลลิเมตร เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัย (generation) ลักษณะการทำลายและการระบาด เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลส์ท่อน้ำท่ออาหาร บริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวกแห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียก”อาการไหม้”(hopperburn) โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวงซึ่ง ตรงกับช่วงอายุขัยที่ 2 – 3(generation) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวนาข้าวที่ขาดน้ำ ตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส โรคใบหงิก(rice raggedstunt)มาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็นต้นเตี้ยใบสีเขียวแคบและสั้นใบแก่ช้ากว่าปรกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว และ ขอบใบแหว่งวิ่น แนวทางการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยวิธีผสมผสาน 1. เลือกใช้พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำ เช่น พันธุ์กข 29 กข31 กข41 พิษณุโลก 2 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 3 สุพรรณบุรี 90 กข.47 หรือ กข 49 และและในพื้นที่เดียวกันให้ปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์ เพื่อชะลอการปรับตัวของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2. หว่านข้าวตามคำแนะนำในอัตรา 15 – 20 กก./ไร่ เพื่อไม่ให้ข้าวหนาแน่นมากเกินไป และสะดวกในการจัดการแมลงศัตรู โรค และวัชพืช 3. ใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป เนื่องจากข้าวมีการเจริญงอกงามและเขียวจัดเหมาะสมต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแมลงศัตรูชนิดอื่น 4. ไม่ขังน้ำในนาตลอดเวลา ควรปล่อยให้ระดับน้ำมีพอดินเปียก เพื่อให้สภาพนิเวศในนาข้าวไม่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 5. สำรวจแมลงอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรปล่อยให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดสูง 6. ห้ามใช้สารที่มีพิษสูงต่อมวนเขียวดูดไข่ เช่น สารอะบาเม็กติน และสารในกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ 7. เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลถึงระดับ 10 ตัว/กอ(1 ตัว/ต้น) ให้ใช้สารฆ่าแมลงตามคำแนะนำ ดังนี้ 1.เมื่อจำนวนเพลี้ยกระโดดเพิ่มถึง 10 ตัว/กอ(1 ตัว/ต้น) – พ่นสาร กลุ่ม16บูโพรเฟซีน 40%SC อัตรา 120 ซีซี/ไร่ – หรือกลุ่ม4Aไดโนทีฟูแรน 20%SG อัตรา 30กรัม/ไร่ หรือ10%WP อัตรา 60 กรัม/ไร่ – หรือกลุ่ม9Bไพมีโทรซีน 50%WG อัตรา 50 กรัม/ไร่ – หรือกลุ่ม29ฟลอนิคามิด 50%WG อัตรา 50 กรัม/ไร่ กลุ่ม9B 16 และ 29 อันตรายน้อยต่อมวนเขียวดูดไข่ เนื่องจาก 3ชนิดนี้ มีคุณสมบัติกินตายเป็นหลัก มวนเขียวดูดไข่ไม่ได้ดูดกินพืชจึงมีผลกระทบน้อยมาก 2. หากการระบาดระดับรุนแรง ถึง 50 ตัว/กอ(5 ตัว/ต้น) ให้ใช้สาร – กลุ่ม4Aไดโนทีฟูแรน 10%WP+ กลุ่ม2Bฟิโพรนิล 5%SC อัตรา 60 กรัม +120 ซีซี/ไร่ – กลุ่ม4Aไดโนทีฟูแรน 10%WP+ กลุ่ม2B อิทิโพรล์ 10%SC อัตรา 60 กรัม + 180 ซีซี/ไร่ – สารเดี่ยวกลุ่มใหม่ เช่นกลุ่ม9Bไพมีโทรซีน 50%WG อัตรา 50 กรัม/ไร่ หรือกลุ่ม29 ฟลอนิคามิด 50%WG อัตรา 50 กรัม/ไร่ ข้อสำคัญต้องปรับวิธีการพ่นด้วย โดยปรับหัวฉีดให้ลงสู่เป้าหมาย คือโคนกอข้าว หรือใช้แบบคานหัวฉีด จะทำให้การพ่นสารได้ประสิทธิภาพเต็มที่ หมายเหตุ หลีกเลี่ยงการพ่นสารกลุ่ม3Aไพรีทรอยด์ประเภท2 เช่น ไซเพอร์เมทริน แลมบ์ดาไซฮาโลทริน เบตาไซฟลูทริน แลมบ์ดาไซฮาโลทริน เป็นต้น **ที่มา กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร